คุ้มครองสิทธิประชาชน
หนุนหน่วยบริการเข้มแข็ง
สปสช.จัดโครงการพัฒนาศักยภาพศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ
ใน รพช. 350 แห่งทั่วประเทศ ต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพผู้ปฏิบัติงาน/พยาบาล หนุนกระบวนการคุ้มครองสิทธิ์ประชาชนในการรับบริการสุขภาพ
สร้างความเข้าใจผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ลดความขัดแย้ง
ช่วยสร้างความเข้มแข็งหน่วยบริการ ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายั่งยืน
นพ.รัฐพล
เตรียมวิชานนท์ ประธานกลุ่มภารกิจงานสาขาเขตและการมีส่วนร่วม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
(สปสช.) กล่าวว่า ตามมาตรา 50 (5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
พ.ศ.2545
ได้มอบอำนาจให้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
กำหนดหน่วยรับเรื่องร้องเรียน เพื่อให้ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียน
เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมาพบว่า จำนวนเรื่องที่เป็นปัญหาจากการถูกละเมิดสิทธิการรับบริการนั้นมีไม่มาก
ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาความไม่เข้าใจที่เกิดจากความคลาดเคลื่อนของข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลง
ความไม่เข้าใจกันที่เกิดจากภาษาสื่อสารทางการแพทย์ และส่วนใหญ่เหตุจะเกิดในหน่วยบริการ
นพ.รัฐพล
กล่าวว่า จากปัญหาข้างต้น จึงได้เกิดแนวคิดจัดตั้ง
“ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ” ตั้งแต่ปี 2549 นอกจากการจัดตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนที่จัดตั้งโดยภาคประชาชน
ไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนในการเข้ารับบริการเท่านั้น
แต่ยังช่วยอำนวยความสะดวกและเป็นช่องทางการสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการและรับบริการมาอย่างต่อเนื่อง
โดยมีพยาบาลเป็นบุคลากรสำคัญในการดำเนินงานและขับเคลื่อนการทำงานของศูนย์ฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด
เพราะนอกจากเป็นด่านหน้าของหน่วยบริการแล้ว ยังมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยและญาติที่ช่วยสร้างความเข้าใจได้
ซึ่งปัจจุบันได้จัดตั้งศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการแล้วจำนวน 818
แห่ง แยกเป็นโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 98 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 720 แห่ง
ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการบริการศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำนักบริการประชาชนและคุ้มครองสิทธิ์ สปสช. จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ
ระดับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ขึ้น ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเป็นระยะที่ 2 แล้ว โดยเป็นการอบรมให้กับบุคลากรที่รับผิดชอบศูนย์บริการและหัวหน้าพยาบาล
จำนวน 700 คน จากโรงพยาบาลชุมชน 350
แห่งทั่วประเทศพบว่าช่วยส่งผลให้พยาบาลและบุคลากรที่ผ่านการอบรม
สามารถมีส่วนร่วมวางแผนและกำหนดทิศทางการดำเนินงานของศูนย์
มีทักษะในการแก้ไขปัญหาร้องเรียน และสามารถเชื่อมโยงกับภาคประชาชนได้
ที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการ
นพ.รัฐพล กล่าวว่า
ส่วนผลที่จะได้รับจากโครงการอบรมในครั้งนี้ คือ
ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการระดับโรงพยาบาลชุมชน
มีองค์ความรู้ในเรื่องสิทธิของผู้ป่วย ตาม พรบ.ที่เกี่ยวข้อง
ส่งผลให้เกิดทัศนคติที่ดีของพยาบาลต่อการเข้าถึงและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการให้บริการสุขภาพ
มีการพัฒนากระบวนการจัดบริการพยาบาลแบบมุ่งเน้นหัวใจการให้บริการและสร้างเครือข่ายในการทำงานระหว่างกลุ่มการพยาบาลกับทีมสุขภาพ
และเกิดการเชื่อมโยงการทำงานเชิงคุณภาพเพื่อให้ผู้รับบริการปลอดภัย
เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยบริการ
และทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบที่มีคุณภาพและมีความยั่งยืนต่อไป
0 Comments:
แสดงความคิดเห็น