กลุ่มบริษัท ดาว : "STISA 9 ส่งเสริมนักวิทย์รุ่นใหม่ ต่อยอดนวัตกรรมด้วยความคิดสร้างสรรค์"
STISA 9 ส่งเสริมนักวิทย์รุ่นใหม่ ต่อยอดนวัตกรรมด้วยความคิดสร้างสรรค์
การเข้าถึงแหล่งความรู้ในปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธี เพราะการเรียนรู้ที่ดีไม่ได้อยู่เพียงแค่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงการทำกิจกรรมนอกหลักสูตรเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ สร้างประสบการณ์จริง และนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันและสังคมโดยรวม
กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย บริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของไทย เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้เปิดกว้างด้านความคิดและแสดงศักยภาพ ผสานความร่วมมือกับสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย (สวคท.) และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด จัดประกวดโครงการ “รางวัลความคิดริเริ่มทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 9” (STISA 9) ภายใต้แนวคิด “Creative processes and materials for social sustainability หรือ วัสดุและกระบวนการคิดสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืนของสังคม ” เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาส่งผลงานวิจัยเข้าประกวดโครงการที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดการใช้งานได้จริงในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ โครงการฯ เน้นย้ำได้อย่างดีว่าองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม มีความสำคัญและสามารถนำมาเชื่อมโยงกันเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ได้ในทุก ๆ แขนง
สำหรับการประกวดในปีนี้ มีทั้งหมด 49 โครงงานที่เข้าร่วม หนึ่งในโครงงานที่น่าสนใจและได้รับรางวัลดีเด่นอันดับ 1 ในระดับอุดมศึกษา ได้แก่ โครงงาน “การแยกน้ำตาลแอล-คิวบราชิทอล จากเซรั่มของหางน้ำยางธรรมชาติ” ของ ทีม SUBER จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่หางน้ำยางที่มักจะถูกมองว่าเป็นของเหลือทิ้ง
รศ.ดร.ภาณุ ด่านวานิชกุล อาจารย์ที่ปรึกษาของทีม SUBER กล่าวว่า “ในปัจจุบันอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องราคาผันผวน และประเทศของเรายังคงนำยางพารามาใช้ประโยชน์ได้น้อยอยู่ สำหรับโครงงานวิจัยเรื่อง ‘การแยกน้ำตาลแอล-คิวบราชิทอล จากเซรั่มของหางน้ำยางธรรมชาติ’ ปัจจุบันมีการนำน้ำตาลชนิดนี้ไปพัฒนาเป็นยารักษาโรคเบาหวาน โดยทีมได้พัฒนาและหาวิธีสกัดน้ำตาลแอล -คิวบราชิทอลจากหางน้ำยางพาราที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ซึ่งมีความเป็นกรดสูงและถือเป็นของเสียจากกระบวนการผลิต นับเป็นการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากสารที่ไม่ใช่ยางในน้ำยาง การทดลองวิจัยครั้งนี้จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราที่เป็นพืชสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย หากนำน้ำตาลแอล -คิวบราชิทอลไปทำการวิจัยและพัฒนาต่อยอดความรู้มากกว่านี้ ก็จะสามารถสร้างประโยชน์ทางการแพทย์ได้ อาทิ การรักษาโรคเบาหวาน ”
นอกจากนี้โครงงาน “เครื่องประดับเงินจากของเสียที่มีเงินเป็นส่วนประกอบ ” ของ ทีม R-Gent จากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับรางวัลดีเด่นอันดับ 1 ในระดับบัณฑิตศึกษา นับเป็นอีกหนึ่งผลงานสร้างสรรค์ที่นำของเหลือทิ้งจากห้องปฏิบัติการเคมีมาดัดแปลงให้เกิดมูลค่าเพิ่ม
นายหาญชนะ เกตมาลา หนึ่งในสมาชิกทีม R-Gent กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการทำโครงงานดังกล่าวว่า “เนื่องจากเราทำการทดลองเกี่ยวกับการสังเคราะห์ซิลเวอร์นาโน หรือการนำเอานาโนเทคโนโลยีมาแยกโลหะเงินให้มีขนาดเล็กลงในระดับนาโนเมตร เรียกว่า อนุภาคนาโนซิลเวอร์ เราจึงอยากจัดการของเสียที่เหลือจากห้องปฏิบัติการเคมีดังกล่าว พร้อมหาวิธีนำโลหะกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งผลที่ได้คือ สามารถลดของเสียและลดค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการบำบัดของเสีย พร้อมนำโลหะเงินผลึกบริสุทธิ์สูงเหล่านั้นมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ผ่านการนำมาขึ้นรูปเป็นเครื่องประดับ ” นายหาญชนะกล่าวเสริมว่า “โครงงานของพวกเราสามารถทำตามได้โดยง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเคมีก็สามารถทำตามได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ในโรงเรียน ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ ”
โครงการ “รางวัลความคิดริเริ่มทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 9” (STISA 9) จึงเป็นเวทีที่สร้างแรงบันดาลใจสำคัญ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมและกล้าแสดงออกทางความคิด พร้อมริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงผ่านการประยุกต์ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้เรียนรู้มา โดยยังให้ความสำคัญกับหลักการพัฒนาที่ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยต่อยอดและเกิดเป็นนวัตกรรมที่สามารถช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้ก้าวไกลต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน
หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ คุณสุทธิพงศ์ โกรทินธาคม (โจ๊ก) ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ โทรศัพท์ 038-673315 / 081-7919626
จึงเรียนมาเพื่อโปรดประชาสัมพันธ์
ขอแสดงความนับถือ
นายสุทธิพงศ์ โกรทินธาคม
เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย
เลขที่ 8 ถนนไอสี่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง 21150
เบอร์มือถือ: +6681 7919626
0 Comments:
แสดงความคิดเห็น