7 พฤศจิกายน 2562 – กรุงเทพฯ - ธุรกิจเคมิคอลส์
เอสซีจี ร่วมกับ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งศูนย์วิจัย “SCG – MUSC
Innovation Research Center” เพื่อวิจัยและพัฒนา
“นวัตกรรมพอลิเมอร์ชนิดพิเศษ”
จากสารเร่งปฏิกิริยาที่ช่วยให้พลาสติกรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น เร่งตอบโจทย์ตลาดโลกที่ต้องการบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อความยั่งยืน
นายธนวงษ์
อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เปิดเผยว่า ธุรกิจเคมิคอลส์
เอสซีจี
มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA (High
Value Added) โดยเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี
2561 ได้ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนากว่า 2,400 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 ของรายได้จากการขายของธุรกิจเคมิคอลส์
ส่งผลให้ยอดขายสินค้า HVA มีมากถึงร้อยละ 53 มีสิทธิบัตรรวมทั้งสิ้นกว่า 1,200 ฉบับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปีที่ผ่านมา
โดยมีทิศทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เน้นให้วัสดุมีความแข็งแรงทนทาน
(Durability) สามารถรีไซเคิลได้ง่าย (Recyclability) และมีประสิทธิภาพสูง
(High Performance) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ง่ายยิ่งขึ้น
“สำหรับความร่วมมือระหว่างเอสซีจี และภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ในการจัดตั้งศูนย์วิจัย “SCG – MUSC Innovation Research Center” ในครั้งนี้ จะเป็นการร่วมกันพัฒนา “นวัตกรรมพอลิเมอร์ชนิดพิเศษ”
จากสารเร่งปฏิกิริยาที่ช่วยให้พลาสติกรีไซเคิลง่ายขึ้น
สามารถนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ เช่น สารที่ทำให้ชั้นฟิล์มทุกชั้นเป็นวัสดุชนิดเดียวกัน
(Mono-Material
Packaging) เป็นต้น ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเสริมศักยภาพและเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรม
ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีมีสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น”
รศ. ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้
นอกจากเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของวงการวิจัยระดับชาติแบบ Public-Private Partnership แล้ว ยังเป็นการร่วมกันสร้างผู้เชี่ยวชาญและนวัตกรรุ่นใหม่
ที่มีความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับประเทศ
ผ่านโปรแกรมการศึกษาที่มาจากการทำงานร่วมกัน ถือเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนของความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์
ที่ประสานความเข้มแข็งขององค์กรพันธมิตรเข้าด้วยกัน
ซึ่งนักศึกษาจะมีโอกาสในการร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในโครงการดังกล่าวกับนักวิจัยของศูนย์ฯ
ด้วย
ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี
ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวว่า “ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และภาควิชาเคมี
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี
2550 โดยในปีนี้ ได้จัดตั้งศูนย์วิจัย “SCG – MUSC Innovation Research
Center” ขึ้น ณ ตึกเคมี
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการดำเนินงานวิจัย
โดยใช้องค์ความรู้พื้นฐานด้านเคมีและเครื่องมือวิเคราะห์โครงสร้างเคมีขั้นสูงจากภาคการศึกษา ผสมผสานกับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากเอสซีจี
ในการขยายผล (scale up) และการนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์
เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน”
ความร่วมมือระหว่างเอสซีจีและมหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้
จะช่วยจุดประกายให้ทุกภาคส่วนและสถาบันวิจัยต่าง ๆ
ในประเทศให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน
ทั้งยังช่วยส่งเสริมงานวิจัยเชิงพาณิชย์
เพื่อให้ธุรกิจและโลกเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
คณะผู้บริหารจากธุรกิจเคมิคอลส์
เอสซีจี และภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสเปิดศูนย์ SCG – MUSC Innovation Research Center เพื่อวิจัยและพัฒนา “นวัตกรรมพอลิเมอร์ชนิดพิเศษ”
จากสารเร่งปฏิกิริยาที่ช่วยให้พลาสติกรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น เร่งตอบโจทย์ตลาดโลกที่ต้องการบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อความยั่งยืน
ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพจากซ้ายไปขวา
นายนิวัฒน์ อธิวัฒนานนท์ CTO Polyolefins and Vinyl ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี (ซ้ายสุด) ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่
ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ที่ 2 จากซ้าย)
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี (ที่ 3 จากซ้าย) รศ. ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ที่ 3
จากขวา) ดร.กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน รองคณบดี
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ที่ 2 จากขวา)
รศ. ดร.ปราณี ภิญโญชีพ หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล (ขวาสุด)
0 Comments:
แสดงความคิดเห็น