สุดยอดชุมชนระยอง ตัวแทนชาวไทยผลิตกระเป๋าพลาสติกรีไซเคิลรับการประชุมสุดยอดอาเซียน
ร่วมสร้างสรรค์ไอเดียโดย พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC)
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อปี 2552 ซึ่งแต่ละครั้งจะมีบทสรุปและแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์
อาทิ การจัดตั้งเขตการค้าเสรี (Asian Free Trade Area หรือ AFTA) ในปี 2535 ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยและกระทรวงต่างประเทศจะได้เป็นเจ้าภาพการประชุมฯ
อีกครั้ง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างที่
20-23 มิ.ย. นี้ ภายใต้รูปแบบการประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(Green Meeting) เพื่อประหยัดทรัพยากรและลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น
ในครั้งนี้ ชุมชนระยอง
ได้รับเลือกให้ผลิตของที่ระลึกสำหรับการประชุมมอบให้กับผู้นำแต่ละประเทศ โดยผลิตซองใส่
iPad จากพลาสติกรีไซเคิล ร่วมสร้างสรรค์ไอเดียโดย บมจ.
พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมและเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต
ได้รับเกียรติให้เป็นพันธมิตรด้านความยั่งยืน
(Partner for Sustainability)
GC ดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
(Circular Economy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุด
จึงให้ความสำคัญในการนำขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่า
มาสร้างสรรค์ออกแบบร่วมกับดีไซน์เนอร์ ผสานฝีมือของชุมชนจังหวัดระยอง
ทำให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม และทำให้ขยะไม่เป็นขยะอีกต่อไป
โดยของที่ระลึกจากการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้
เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากการดำเนินงานภายใต้โครงการ PE Recycle ของ
GC ซึ่งร่วมมือกับ 2 ชุมชนจังหวัดระยองได้แก่
ชุมชนเนินสำเหร่ 1 และชุมชนเจริญพัฒนา ร่วมถักทอผืนผ้า
โดยใช้เส้นด้ายรีไซเคิลซึ่งผลิตจากขยะพลาสติกประเภทโพลิเอทิลีน (PE) นำมาถักทอเป็นกระเป๋าและซองใส่
iPad โดยชุมชนทั้งสองนี้เป็นชุมชนต้นแบบในการถักทอเส้นใยจากวัสดุ
PE Recycle เพื่อประกอบเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิลต่างๆ
เสียงจากความปิติยินดีของตัวแทนชุมชนอย่าง
นางสาวยุวรี อินศรี จากชุมชนเนินสำเหร่ 1
เทศบาลตำบลบ้านฉาง จ.ระยอง เปิดเผยว่า ส่วนใหญ่แม่บ้านในชุมชนนี้
จะถักทอตะกร้าและกระเป๋าจากเชือกร่มและไหมฟาง แต่โครงการ PE Recycle นี้ช่วยทำให้ตนเองและเพื่อนอีก
11 คน ได้เพิ่มทักษะด้านการถักทอจนได้เป็นผืนผ้า วันนี้ดีใจที่ทีมงานจาก GC มาเยี่ยมเยียนและนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากฝีมือตนเองซึ่งวันนี้ได้กลายเป็นของที่ระลึกในงานประชุมสุดยอดอาเซียน
ยิ่งรู้สึกภูมิใจและดีใจ และสำคัญกว่ารายได้เสริมที่ได้รับ
เช่นเดียวกัน
นางทองศรี สลอดตะคุ จากชุมชนเจริญพัฒนา เทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง
ก็รู้สึกปลื้มใจและภูมิใจที่รู้ว่าซองใส่ iPad ซึ่งผลิตจากผืนผ้าที่มาจากการถักทอของคนในชุมชนจังหวัดระยอง
ได้รับคัดเลือกให้เป็นของที่ระลึกในการประชุมสุดยอดอาเซียน
ถือเป็นความภาคภูมิใจให้กับตัวเอง ครอบครัว และคนในชุมชนว่า วันนี้ฝีมือคนท้องถิ่นได้ประจักษ์สู่สายตาในเวทีระดับสากล
อีกทั้ง
การถักทอผ้าที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิลยังมีส่วนในการช่วยในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ซองใส่ iPad ที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล
นอกจากจะเป็นการสร้างสรรค์ผ่านฝีมือการถักทอที่เป็นเอกลักษณ์ของคนในชุมชนจังหวัดระยองแล้ว
ยังเห็นได้ว่าของที่ระลึกแต่ละชิ้นจะมีลวดลายที่โดดเด่นและแตกต่างโดยสิ้นเชิง
ถือเป็นความพิเศษที่ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน และ GC ในฐานะผู้จัดทำของที่ระลึกต้องการส่งต่อความประทับใจถึงผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละคนอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ยังเป็นการส่งต่อให้ผู้รับได้เกิดการตระหนักรู้ในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย
เพราะซองใส่ iPad PE Recycle 1 ชิ้นเทียบเท่ากับการใช้ขยะถุงพลาสติก 36 ใบ
เป็นวัตถุดิบ ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,124 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์
หรือเทียบเท่ากับการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากต้นไม้จำนวน 27 ต้น
นอกจากนี้แล้ว GC ยังได้สนับสนุนกระเป๋า
Tote Bag ที่ผลิตโดยเส้นด้ายรีไซเคิลจากขยะพลาสติกประเภทโพลิเอทิลีน
(PE) และถักทอโดยฝีมือชุมชนระยองทั้ง
2 ชุมชน
เพื่อเป็นของที่ระลึกในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ
ที่กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพ เมื่อเดือนเมษายน 2562
ที่ผ่านมา
การจัดงานประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้
นอกจากคนไทยจะรู้สึกภาคภูมิใจที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันที่คือ
การที่เราได้แสดงให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้เห็นว่า
ประเทศไทยนั้นให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้โลกของเราน่าอยู่ตราบนานเท่านาน
0 Comments:
แสดงความคิดเห็น