5 ปี
ช่วยคนรอดชีวิตจากพิษไปแล้ว กว่า 13,000 ราย
อภ. สปสช. สมาคมพิษวิทยา คลินิกสถานเสาวภา
สภากาชาดไทย ร่วมบริหารจัดการยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ หวังให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงที
และลดภาระค่าใช้จ่ายในการสำรองยาราคาสูงให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศโดย 5
ปีที่ผ่านมา ช่วยคนรอดชีวิตจากพิษไปแล้ว กว่า 13,000 ราย
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม
เปิดเผยว่า จากปัญหาการเข้าถึงยากำพร้าของผู้ป่วย ในกลุ่มยาต้านพิษซึ่งเป็นยาที่มีปริมาณการใช้น้อย
อุบัติการณ์ที่มีเหตุจำเป็นต้องใช้ไม่สม่ำเสมอ แต่ยายังคงมีความจำเป็นในการใช้รักษา
ทำให้บริษัทยาไม่มีการผลิตเพื่อสำรองไว้ในประเทศ ประกอบกับถ้าสำรองไว้จะมีค่าใช้จ่ายในการสำรองที่สูง
มีความเสี่ยงต่อการบริหารจัดการยาหมดอายุ และเป็นกลุ่มยาที่ไม่ทำกำไร ทำให้บริษัทไม่สนใจที่จะผลิตหรือนำเข้า
เพราะไม่คุ้มค่า จนส่งผลต่อการเข้าถึงยาของผู้ป่วย
ดังนั้นเพื่อให้เกิดการสำรองยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ
ที่มีความจำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษต่างๆ อาทิ พิษจากสารไซยาไนด์
พิษจากสารโบทูลิซึม หรือจากเชื้อครอสตริเดียม โบทูลินัม จากหน่อไม้ปิ๊บ รวมถึงเซรุ่มต้านพิษงูต่างๆ โดยเมื่อผู้ป่วยได้รับพิษเหล่านี้ต้องได้รับยาให้ทันต่อการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษสารไซยาไนด์ต้องได้รับยา
Sodium
Thiosulfate Injection 25% ภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารโบทูลิซึมหรือจากเชื้อคลอสตริเดียม
โบทูลินั่ม ผู้ป่วยต้องได้รับยา Botulinum antitoxin ภายใน
24 ชั่วโมง ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับ
องค์การเภสัชกรรม สมาคมพิษวิทยาคลินิก และสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ร่วมมือกันบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ เพื่อร่วมดำเนินการจัดหาสำรอง
และกระจาย ยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ ให้เข้าถึงผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง และรวดเร็วทันท่วงที และยังเป็นการช่วยลดภาระของโรงพยาบาลที่ต้องแบกรับรายการยาที่มีมูลค่าสูง
หรือยาที่จำเป็นต้องมีไว้ในห้องยา ปัจจุบันมีรายการยาต้านพิษ เซรุ่มต้านพิษงูในการบริหารจัดการแล้ว
17 รายการ
นพ.นพพร กล่าวต่อว่า ในส่วนของการดำเนินงานนั้น
องค์การฯได้มีการจัดหายาต้านพิษและเซรุ่มจากผู้ผลิตในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ
ตามโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ เช่น ยารักษาภาวะพิษจากสารตะกั่ว
หรือสารหนู ยารักษาภาวะพิษจากไซยาไนด์ ยารักษาภาวะที่เม็ดเลือดแดงของร่างกายลดความสามารถในการขนส่งออกซิเจน
จากการมีเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ และยังได้จัดหายากำพร้าอื่นๆ สำรองไว้ที่คลังขององค์การฯ
หลายรายการด้วยกัน อาทิเช่น ยาลดภาวะอาการแข็งเร็งของกล้ามเนื้อ เคลื่อนไหวผิดปกติจากการใช้ยาทางจิตเวช
ยารักษาการแพ้ยาสลบ เป็นต้น โดย
ในปีหนึ่งองค์การฯได้ทำการจัดหาและสำรองไว้เป็นมูลค่าถึง 50 ล้านบาท ถือว่ามีมูลค่าน้อยกว่ามูลค่าของยากลุ่มอื่น
แต่ว่าเป็นยาที่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับช่วยชีวิตผู้ป่วย ที่ต้องมีไว้ในระบบยาของประเทศ
ด้านการกระจายนั้น
องค์การฯจะทำหน้าที่เป็นผู้กระจายยาต้านพิษและเซรุ่มต่างๆ
โดยยาต้านพิษที่มีมูลค่าไม่สูงมากนัก และมีความถี่ในการใช้สม่ำเสมอจะถูกบริหารจัดการด้วยระบบบริหารคลังสินค้าหรือ
VMI
เพื่อกระจายไปเติมเต็มการสำรองยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดทุกแห่ง
รวมถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยต่างๆ ขณะที่ยาต้านพิษที่มีมูลค่าสูง อย่างเช่น ยาต้านพิษ
Botulinum antitoxin ใช้ต้านพิษจากสารโบทูลิสมหรือจากเชื้อครอสตริเดียม
โบทูลินั่ม จากหน่อไม้ปี๊บ ที่มีราคากว่า 400,000 บาท ต่อการรักษา 1 ครั้งนั้น จะสำรองไว้ที่ส่วนกลาง
คือ องค์การเภสัชกรรม ศูนย์พิษวิทยา และกรมควบคุมโรค
ที่ผ่านมาองค์การฯ
สามารถดำเนินการจัดส่งยาดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที อย่างเช่นกรณีที่โรงพยาบาลภูมิพล
เหตุเกิดกลางดึกเวลา 02.46 น.ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา องค์การฯ สามารถจัดส่งยาได้ภายใน
30 นาทีทำให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติได้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมต่อไปได้
ด้าน ศ.นพ.วินัย
วนานุกุล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดีผู้แทนสมาคมพิษวิทยาคลินิก กล่าวว่า
ศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี เป็นศูนย์พิษวิทยาแห่งแรก ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2539
ช่วงแรกได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยสารเคมีขององค์การอนามัยโลก (International
Programmeon Chemical Safety: IPCS) หลังจากเปิดดำเนินงานระยะหนึ่ง พบว่ามีปัญหาด้านการรักษาเพราะขาดแคลนยาต้านพิษอย่างมาก
เพราะขณะนั้นประเทศไทยมียาต้านพิษน้อยมาก ยาบางรายการไม่เคยมีเลยในประเทศ
ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องเสียชีวิตลงอย่างน่าเสียดาย
หลังการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้มีการบริหารจัดการด้านยารวมถึงกลุ่มยากำพร้าเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา
โดยในช่วงปี พ.ศ. 2553 สปสช.ร่วมกับศูนย์พิษวิทยา และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำ
“โครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ” เพื่อจัดหายาต้านพิษเร่งด่วนที่ควรมีในประเทศ
โดยใช้ฐานข้อมูลของศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี ซึ่งได้จัดเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยมาอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ปลายปี 2553 มีการบรรจุยาต้านพิษในบัญชีที่ 6 รายการ
ปีต่อมาได้ปรับเพิ่มบัญชียาเป็น 10 รายการ ในแต่ละปีจะมีการทบทวนบัญชียา
มีการถอนรายการออกและบรรจุยาใหม่ เนื่องจากยาบางรายการประโยชน์น้อย ราคาแพง
หรือมีการรักษาใหม่ที่ให้ผลดีกว่า เป็นต้น
ทำให้ปัจจุบันนี้มียาในบัญชีทั้งหมด 17
รายการโดยได้รวมเอาเซรุ่มต้านพิษงูเข้าไปด้วย
ศ.นพ.วินัย
กล่าวต่อว่า ศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี เป็นเสมือนศูนย์กลางของข้อมูลข่าวสารด้านการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษทุกๆ
อย่าง ได้มีส่วนร่วมดำเนินการอยู่ในหลายขั้นตอน ทั้งการให้คำแนะนำ
คำปรึกษาเพื่อการวินิจฉัย
การประเมินว่าผู้ป่วยต้องได้รับยาต้านพิษใด ขนาดเท่าใด วิธีไหน
การประสานงานกับโรงพยาบาลได้รับยาเพื่อรักษาผู้ป่วย และการติดตามผลการรักษา
เป็นที่สำรองยาที่มูลค่าสูง พร้อมทั้งได้มีการจัดตั้งระบบ Call Center 1367 บริการตลอด 24 ชั่วโมง
ส่งผลให้การบริการของศูนย์พิษวิทยามีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
จำนวนผู้ใช้บริการจากทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี พ.ศ. 2558 มีการปรึกษาเข้ามา 20,000 กว่าเหตุการณ์ จำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องมีทั้งสิ้น
19, 500 ราย โดยในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
ผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยยาต้านพิษ และผ่านการให้คำปรึกษาของศูนย์พิษวิทยาทั้ง 3
ศูนย์ของสมาคมพิษวิทยาคลินิกมีอัตราการรอดชีวิตกว่า 95% และ
90% ของผู้ป่วยที่รอดชีวิตกลับมาใช้ชีวิตโดยปกติ
ซึ่งนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของระบบการรักษาพิษวิทยาในประเทศไทย
นอกจากนี้จากการนำเสนอโครงการนี้ในระดับนานาชาติ
มีหลายประเทศสนใจทำความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องการดูแลผู้ป่วยได้รับสารพิษซึ่งจะเป็นก้าวที่สำคัญต่อไปของโครงการนี้
ศ.(พิเศษ) ภญ.สุมนา
ขมวิลัย
ผู้แทนสถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า ในส่วนของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย
ได้รับบทบาทสำคัญในการผลิตยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษหลายรายการ อาทิเช่น ยารักษาภาวะพิษไซยาไนด์
ยารักษาภาวะที่เม็ดเลือดแดงของร่างกาย ลดความสามารถในการขนส่งออกซิเจน
จากการมีเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ และเซรุ่มต้านพิษงู
ซึ่งทำให้ประเทศไทยมียากำพร้าคุณภาพดี ใช้ในราคาที่เข้าถึงได้ และเป็นที่น่าภูมิใจของประเทศไทยที่ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถผลิตยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษใช้เองในประเทศได้
นอกจากนี้สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ยังได้เปิดคลินิกรักษาผู้ป่วยที่ถูกสัตว์พิษกัด
ร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลรามาธิบดีในการดูแลผู้ป่วย
ด้าน ภญ.เนตรนภิส
สุขนวนิช รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา
5 ปีที่ผ่านมา การบริหารจัดการภายใต้ความร่วมมือแบบศูนย์รวมนี้
สามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาต้านพิษ และมีชีวิตรอดแล้วกว่า 13,000 ราย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว
เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วน ซึ่งความร่วมมือที่ผ่านมาไม่เพียงแต่เพิ่มการเข้าถึงยา
ที่ทันท่วงที่ และช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้ว หากแต่แนวทางของการดำเนินการในลักษณะนี้ยังสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา
และเป็นการนำร่องสู่การพัฒนาการดำเนินงานแบบบูรณาการไปยังยา และเวชภัณฑ์รายการอื่นๆ
อันทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็น และลดภาระงานของหน่วยบริการได้อีกด้วย
0 Comments:
แสดงความคิดเห็น