เอสซีจี ผนึกกำลัง The Ocean Cleanup สตาร์ทอัพระดับโลก
วิจัยและพัฒนาขยะจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้จาก InterceptorTM
มุ่งแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน
กรุงเทพฯ – 18 พฤศจิกายน 2562 – ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี โดย ดร.สุรชา
อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม
และ The Ocean
Cleanup องค์กรสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก
ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร โดย โบยาน สลาต Founder and CEO ลงนามในข้อตกลงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาขยะทะเลในประเทศไทย
โดยได้รับเกียรติจาก ท่านเคส ปีเตอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
ประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธี ณ สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย
โดยความร่วมมือในการวิจัยครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลเรื่องขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งไหลลงสู่ทะเลที่ชัดเจนและถูกต้อง
เพื่อนำมาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการขยะและนำมาสร้างประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป
ทั้งนี้ The Ocean
Cleanup ได้ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย
จัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการติดตั้ง InterceptorTM เพื่อป้องกันขยะจากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาที่ทั่วโลกตระหนักและมุ่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อสิ่งแวดล้อมในทะเล
ประเทศไทยมีขยะในทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งจากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
(TDRI) พบว่า ขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากชุมชน ร้านค้า
อุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ การท่องเที่ยวตามชายหาด
และหลุมฝังกลบที่จัดการไม่ถูกต้อง ดังนั้น
การแก้ไขปัญหาขยะทะเลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการขยะจากบกเพื่อป้องกันไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล
ในขณะเดียวกันการเก็บขยะทะเล (cleanup) ก็ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเช่นกัน
เครดิตภาพ: The Ocean Cleanup
|
เครดิตภาพ: The Ocean Cleanup
ท่านเคส
ปีเตอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า
“ประเทศเนเธอร์แลนด์มีความเชี่ยวชาญในการนำหลัก Circular Economy และเทคโนโลยี
รวมถึงมองหาแนวทางใหม่ ๆ มาใช้ในการจัดการกับปัญหาขยะ
สถานทูตเนเธอร์แลนด์มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนของไทยอย่างเอสซีจี ภาครัฐ
และ The Ocean Cleanup ซึ่งเราจะร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะทะเลเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”
ดร.สุรชา
อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี
ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวว่า
“ปัญหาขยะในแม่น้ำและทะเลในปัจจุบันกว่าร้อยละ 80 มาจากขยะจากบกซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมทางทะเล
การแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ตรงจุดที่สุด คือ การบริหารจัดการขยะจากบกให้มีประสิทธิภาพ
มีการคัดแยกขยะและทิ้งให้ถูกที่ โดยไม่เกิดการหลุดรอดลงสู่แม่น้ำลำคลอง อย่างไรก็ตามการนำขยะจากแม่น้ำขึ้นมาจัดการให้ถูกต้องก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการนำ R&D มาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อดักจับขยะในแหล่งน้ำเป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่ไหลจากแม่น้ำลงสู่ทะเลและมหาสมุทร
ความร่วมมือด้านการวิจัยกับองค์กรระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญอย่าง
The
Ocean Cleanup ในครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งเอสซีจีพร้อมอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เพื่อดำเนินการเก็บข้อมูลขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการนำขยะมาสร้างประโยชน์สูงสุดต่อไป”
เกี่ยวกับ The Ocean Cleanup (www.theoceancleanup.com)
The Ocean Cleanup องค์กรพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อกำจัดปัญหาขยะทะเลโลก
ก่อตั้งเมื่อปี 2556 โดย Boyan Slat ปัจจุบันมีวิศวกรและนักวิจัยกว่า 90 คน
สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ แทนที่จะตามเก็บขยะทะเลด้วยเรือและตาข่าย
ซึ่งใช้เวลาหลายพันปีและเม็ดเงินมหาศาลในการจัดการ The Ocean Cleanup คิดค้นเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อดักจับขยะในมหาสมุทร
โดยทำหน้าที่เหมือนแนวชายฝั่งเทียม และใช้ประโยชน์จากการไหลเวียนของกระแสน้ำ โดยมีเป้าหมายในการกำจัดขยะในแพขยะมหาสมุทรแปซิฟิก
(Pacific Garbage Patch) ให้ได้ 50% ในทุก
ๆ 5 ปี ซึ่งเป็นแหล่งสะสมขยะพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดในมหาสมุทร หลังจากการสำรวจและทดสอบระบบเป็นที่เรียบร้อย
The Ocean Cleanup ได้ปล่อยระบบลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นครั้งแรกในปี
2561 และ 2562 ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติการและเก็บรวบรวมข้อมูลขยะที่เก็บได้
และระบบนี้จะถูกนำไปใช้แบบเต็มรูปแบบ โดย The Ocean Cleanup กำลังทำงานร่วมกับ
partner ต่าง ๆ
เพื่อร่วมกันออกแบบกระบวนการและศึกษาการนำพลาสติกที่เก็บได้มาสร้างประโยชน์ใหม่โดยล่าสุดได้เปิดตัว InterceptorTM อีกหนึ่งนวัตกรรมเพื่อป้องกันการรั่วไหลของขยะจากแม่น้ำก่อนลงสู่ทะเล
Interceptor 001TM ใน
คลองระบายน้ำ Cengkareng กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เครดิตภาพ: The Ocean Cleanup
Interceptor. 002TM ในแม่น้ำ
Klang รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย เครดิตภาพ: The
Ocean Cleanup
สายพานลำเลียงขยะภายใน Interceptor 002TM ในแม่น้ำ Klang River รัฐสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย เครดิตภาพ:
The Ocean Cleanup
0 Comments:
แสดงความคิดเห็น