“ไทย-เกาหลีใต้”
ร่วมมือพัฒนาหลักประกันสุขภาพ
ดึงจุดเด่น
“เทคโนโลยีสารสนเทศ-การเงินการคลัง” พัฒนาระบบ
ไทย-เกาหลีใต้
ร่วมมือพัฒนาหลักประกันสุขภาพ ดึงจุดเด่นของแต่ละประเทศปรับใช้กับบริบทภายในประเทศ
เกาหลีใต้สนใจจุดเด่นของไทยเรื่องการเงินการคลังและการพัฒนาระบบคุณภาพบริการทางการแพทย์ของไทย
ส่วนไทยสนใจเรื่องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่เกาหลีใต้ทำได้สำเร็จ
ภญ.เนตรนภิส
สุชนวนิช รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.และ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลีใต้ (National
Health Insurance Service: NHIS) ได้จัดทำโครงการแลกเปลี่ยนพัฒนาความร่วมมือด้านหลักประกันสุขภาพประเทศไทย-เกาหลีใต้ขึ้น
เพื่อพัฒนาความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการพัฒนาด้านวิชาการ
การบริหารงานระบบบริการสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพของทั้ง 2 ประเทศ
ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของเกาหลีใต้นั้น
ได้รับการประเมินจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization), สมาคมประกันสังคมระหว่างประเทศ (ISSA: International Social
Security Association) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO:
International Labour Organization) ว่าเป็นระบบหนึ่งที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในเรื่องของการสร้างหลักประกันสุขภาพที่มีมาตรฐานเดียวกันให้ประชาชนได้อย่างครอบคลุม
และการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการบริหารจัดการระบบ NHIS ของเกาหลีใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งจุดเด่นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศนี้เป็นสิ่งที่ไทยได้สนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำมาปรับใช้กับระบบหลักประกันสุขภาพของไทย
ซึ่ง NHIS เกาหลีใต้ยินดีที่จะช่วย
สปสช.พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศการประกันสุขภาพ
ภญ.เนตรนภิส
กล่าวต่อว่า สำหรับจุดเด่นของหลักประกันสุขภาพไทยที่เกาหลีใต้สนใจ
คือการเรียนรู้ระบบการบริหารจัดการด้านการเงินการคลังที่มีประสิทธิภาพของไทย
และการพัฒนาระบบคุณภาพของการบริการด้านการแพทย์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติและปัจจุบันไทยก็เป็นพื้นที่ศึกษาดูงานในประเด็นนี้ให้กับประเทศอื่นๆ
ภายใต้ความร่วมมือเครือข่ายหลักประกันสุขภาพอาเซียนบวกสาม
“เมื่อเร็วๆ
นี้ NHIS เกาหลีใต้ก็ได้มาประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
และลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่ สปสช.เขต 5 ราชบุรี
และโรงพยาบาลในจังหวัดราชบุรีด้วย ซึ่งจากความร่วมมือนี้ก็จะทำให้ทั้ง 2 ประเทศนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับประเทศของตนเพื่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพต่อไป”
รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว
0 Comments:
แสดงความคิดเห็น