สิทธิประโยชน์ยาเมทาโดนในบัตรทอง 8 ปี




สิทธิประโยชน์ยาเมทาโดนในบัตรทอง 8 ปี ช่วยผู้ติดยารับบำบัดกว่าหมื่นราย ลดอันตรายเสพยา

สปสช.เผย สิทธิประโยชน์ “ยาเมทาโดนระยะยาว” ผู้ป่วยนอกตั้งแต่ปี 2551 ช่วยผู้เสพฝิ่นและเฮโรอีนรับบำบัดรักษาแล้วกว่าหมื่นราย ล่าสุดยอดพุ่ง รายใหม่เข้ารับการบำบัดเฉลี่ยปีละ 2,400 คน เป้าหมายช่วยผู้เสพยุติการใช้สารเสพติดผิดกฎหมายได้ หนุนนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดของประเทศ ลดอันตรายจากการเสพโดยใช้เข็มฉีดยา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมการบำบัดยาเสพติดด้วยสารเมทาโดนระยะยาว เพื่อเป็นการลดอันตรายจากการเสพยาที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกันซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางกระแสเลือดไปสู่ผู้อื่น ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์การบำบัดยาเมทาโดนระยะยาวในผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยติดสารเสพติดในกลุ่มฝิ่น (โอปิออยด์) และอนุพันธ์ของฝิ่นที่สมัครใจ ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ยาเมทาโดนเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่สังเคราะห์จากฝิ่น เป็นสารทดแทนที่ในทางการแพทย์ยอมรับเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ใช้เฮโรอีน การกินยาเมทาโดนสม่ำเสมอและต่อเนื่องในระยะยาวจะช่วยให้ลดและหยุดการใช้เฮโรอีนได้ ซึ่งจากข้อมูลการเบิกชดเชยการจ่ายยาเมทาโดน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปี 2558 มีผู้ติดยาเสพติดในกลุ่มฝิ่นและอนุพันธ์ของฝิ่นที่สมัครใจที่รับการรักษาโดยใช้ยาเมทาโดทดแทน ทั้งกลุ่มผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยเก่าที่รับยาต่อเนื่อง 5,458 คน ขณะที่ข้อมูลตั้งแต่ปี 2556-2558 มีผู้ติดยาเสพติดในกลุ่มฝิ่นฯ ที่สมัครใจเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยใช้ยาเมทาโนทดแทนสะสม 7,428 คน เฉลี่ยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 2,400 คน คิดเป็นมูลค่าการชดเชยค่ายาเมทาโดนสะสม 43,778,823 บาท หรือเฉลี่ยปีละละประมาณ 14 ล้านบาท ทั้งนี้หากรวมผู้เข้ารับการบำบัดในปี 2559 ที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้ารับการบำบัดโดยใช้ยาเมทาโดนเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้มีผู้รับการบำบัดโดยใช้ยาเมทาโดนสะสมถึงกว่าหมื่นราย
          นพ.ชูชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยาเมทาโดนจัดเป็นยาเสพติด ประเภท 2 ที่ต้องมีการควบคุมพิเศษ เนื่องจากเสพติดได้และเป็นอันตรายแก่ผู้รับบริการถึงแก่ชีวิต ผู้ให้บริการจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจ วิธีรักษาตามหลักการทางกรแพทย์ที่ถูกต้อง เพื่อให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นนอกจากหลักเกณฑ์การเข้ารับบริการของผู้ป่วย ซึ่งต้องเป็นผู้ติดยาที่สมัครใจในการรับการบำบัดรักษา ทั้งในสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงสิทธิว่างเฉพาะการบำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติดในกลุ่มฝิ่นและอนุพันธ์ของฝิ่นเท่านั้น สปสช.ยังกำหนดหน่วยบริการที่มีสิทธิในการเบิกจ่ายยาเมทาโดนได้ ต้องผ่านการขออนุญาตขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2552 และต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1.ต้องเป็นหน่วยบริการที่ให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดครบ 4 ขั้นตอน ทั้งการเตรียมการ การถอนพิษยา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และกรรติดตาม ซึ่งจะทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาที่เข้าโครงการสามารถหยุดยาเมทาโดนได้ในระยะเวลาที่ไม่ยาวนานเกินไป
2.แพทย์ผู้ทำการบำบัดรักษาจะต้องผ่านการอบรม หรือมีประสบการณ์การรักษาผู้เสพติดเฮโรอีนมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
3.หน่วยบริการจะต้องจัดทำทะเบียนผู้เข้ารับการบำบัดรักษาที่เข้าร่วมโครงการฯ และรายงานความคืบหน้าในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เข้ารับการบำบัดต่อกรมการแพทย์ รวมทั้งรายงานการใช้ยาเมทาโดนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีสำเนาเก็บไว้ที่หน่วยบริการ พร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้
นพ.ชูชัย กล่าวว่า ผลจากการให้สิทธิประโยชน์การบำบัดยาเมทาโดนระยะยาวในผู้ป่วยนอกสำหรับผู้ป่วยติดสารเสพติดในกลุ่มฝิ่นฯ ที่สมัครใจ ส่งผลให้มีผู้ใช้ยาเสพติดกลุ่มฝิ่นได้รับการบำบัดเพิ่ม จึงเป็นหนึ่งในนโยบายที่ช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดในภาพรวมของประเทศลงได้


///////////////14 สิงหาคม 2559

About แอดมิน

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.

ผู้สนับสนุน