GC ThinkCycle Bank: ธนาคารทิ้ง-ไซเคิล ก้าวแรกในโรงเรียน


GC ThinkCycle Bank: ธนาคารทิ้ง-ไซเคิล ก้าวแรกในโรงเรียนที่เปลี่ยนการทิ้งขยะไปสู่การออมด้วยมือเล็กๆ ของเด็กนักเรียน












          คุณอาจจะจินตนาการไม่ออกว่าในวันหนึ่งๆ มีขยะเกิดขึ้นในโรงเรียนมากมายขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นกล่องนม เศษกระดาษ ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว ไปจนถึงขยะเศษอาหารจากข้าวกลางวันของนักเรียน
            แต่จะดีไหมถ้าขยะที่กองพะเนินกันอยู่ในโรงเรียน ถูกเปลี่ยนเป็นการออมโดยที่นักเรียนจะได้เงินจากการฝากขยะ เพื่อให้โรงเรียนรวบรวมไปขายแก่โรงงานรีไซเคิลอีกต่อหนึ่ง
ไม่ต้องมองหาโครงการที่ไหนไกล เพราะตอนนี้ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลเปิดตัวโครงการ ThinkCycle Bank หรือ ธนาคารทิ้ง-ไซเคิล มาราวสองปีกว่า โดยโครงการนี้เน้นไปที่การส่งเสริมก้าวเล็กๆ ของเด็กนักเรียนให้ได้เรียนรู้เรื่องการทิ้งขยะแบบหมุนเวียนเพื่อเปลี่ยนโลก ผ่านการคัดแยกขยะให้ถูกประเภทและนำไปฝากผ่านบัญชีธนาคารขยะจากโรงเรียนเพื่อเปลี่ยนขยะรีไซเคิลให้เป็นเงินออม
โครงการ ThinkCycle Bank จึงเป็นเหมือนการวางอิฐก้อนแรกที่ร่วมสร้างรากฐานให้กับเยาวชนผ่านระบบการศึกษา โดยให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีเพื่อนำไปรีไซเคิล พร้อมๆ กับการปลูกจิตสำนึกให้ตระหนักและมีใจรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่เยาว์วัย
GC มองเห็นว่ามือเล็กๆ ของเด็กวัยเรียนนี่แหละที่จะร่วมกันประสานแรงใจเพื่อไปมีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่ในการแยกขยะในครัวเรือน และช่วยเก็บขยะที่หล่นเกลื่อนตามพื้นโรงเรียน เพื่อส่งให้คุณครูบันทึกขยะเป็นเงินออมในบัญชีธนาคารขยะรีไซเคิลที่เปิดให้นักเรียนในโครงการนี้โดยเฉพาะ
ThinkCycle Bank เป็นโครงการที่สานต่อโมเดลการดำเนินโครงการ ‘ธนาคารขยะรีไซเคิล’ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ดำเนินงานกับโรงเรียนรอบรั้ววิทยาเขตศาลายา โดยได้มีการออกแบบกระบวนการรับฝากขยะรีไซเคิลผ่านธนาคารขยะอย่างมีแบบแผน พร้อมดำเนินการควบคู่กับระบบซอฟต์แวร์ Recycle Bank Service ที่มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ  ซึ่งได้สร้างประโยชน์ต่อการจัดเก็บฐานข้อมูลที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน หลักการทำงานคร่าวๆ คือโปรแกรมจะจัดเก็บข้อมูลรับฝากขยะเสมือนธนาคารทั่วไป สามารถคำนวณปริมาณขยะออกมาเป็นจำนวนเงินฝาก ทั้งยังมีการคำนวณยอดรวมขยะที่เก็บได้ตลอดภาคการศึกษาของนักเรียนทุกคน ซึ่งจะมีประโยชน์ในการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อยอดเพื่อวางแผนการบริหารจัดการขยะในระดับท้องถิ่นและจังหวัดในอนาคตได้ ปัจจุบัน GC ได้นำโมเดลนี้ไปปรับใช้ตามบริบทแต่ละโรงเรียนในพื้นทีจังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี รวมจำนวน 22 โรงเรียนแล้ว
เหตุที่โครงการนี้ตั้งใจเข้าไปปักหมุดในโรงเรียนก่อนจะขยายไปสู่ชุมชนในสเกลใหญ่ ก็เพราะอยากจะเป็นหลักไมล์แรกที่ชวนให้เด็กๆ ก้าวไปสู่สังคมแห่งเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ร่วมกัน ผ่านกิจกรรมการแยกขยะที่เด็กนักเรียนสามารถทำได้และไม่ซับซ้อนนัก เมื่อเด็กๆ มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่การจัดเก็บ การคัดแยก และการรีไซเคิลแล้ว ก็เท่ากับเป็นการกรุยทางเพื่อสร้างฐานความรู้ให้เยาวชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมจัดการขยะในชุมชนของตนเองในอนาคต
และการที่เด็กๆ ได้รับค่าขนมเป็นเงินออมจากขยะนั้น แท้จริงแล้วเป็นแค่ผลพลอยได้ แต่สิ่งสำคัญคือได้สร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียนมองเห็นว่าขยะเป็นของมีค่า และสามารถหมุนเวียนไปผลิตเป็นของใหม่ๆ เพื่อใช้ซ้ำผ่านกระบวนการรีไซเคิลได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
โครงการ ThinkCycle Bank จึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมเด็กๆ เข้ากับองค์ความรู้เรื่องการจัดการขยะที่ถูกวิธี โดยมีโรงเรียนเป็นผู้ประสานเรื่องการทำระบบฝากขายและสนับสนุนให้ลงมือทำจริง  เมื่อโครงการนี้ขยายออกไปยังโรงเรียนในภูมิภาคต่างๆ ก็จะยิ่งสร้างอิมแพ็กต์เรื่องการจัดการขยะตั้งแต่ต้นน้ำ ทั้งตัวนักเรียน คุณครู และผู้ปกครอง ให้มองเห็นว่าขยะเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ถ้าผ่านการคัดแยกอย่างถูกวิธี โดยที่นักเรียน โรงเรียน และชุมชนรอบข้าง ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในเครือข่ายจัดการขยะอย่างเป็นระบบได้ตั้งแต่ต้นทาง
และนี่คือโรงเรียนเครือข่ายในจังหวัดระยอง 3 โรงเรียนที่ได้รับรางวัลผลการดำเนินงานเรื่องขยะในระดับดีเด่นจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดเขาสำเภาทอง, โรงเรียนเทศบาลบ้านเพ 1 และโรงเรียนวัดมาบชลูด ซึ่งแต่ก่อนขยะในโรงเรียนจะไปลงเอยที่บ่อขยะหรือไม่ก็สุมไฟเผา แต่ตอนนี้ขยะได้เปลี่ยนเป็นเงินในบัญชีของเด็กนักเรียน และแปลงร่างเป็นสิ่งประดิษฐ์สุดเก๋ที่ทั้งสวยงามและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
ตามไปดูผลงานการคัดแยกขยะที่เกิดจากฝีมือของเด็กๆ กันดีกว่า ว่าแต่ละโรงเรียนจะมีวิธีการจัดการขยะสุดสร้างสรรค์ด้วยวิธีไหนกันบ้าง
 ก้าวย่างเล็กๆ ของเด็กปฐมวัย สู่หัวใจรักษาสิ่งแวดล้อม
สำหรับเด็กเล็กวัยอนุบาล ทักษะชีวิตอย่างการว่ายน้ำหรือการปั่นจักรยาน ยิ่งเริ่มฝึกเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะเด็กจะจดจำไปได้ตลอดและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่นเดียวการคัดแยกขยะ ที่ยิ่งปลูกฝังเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กใส่ใจสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เนิ่นๆ  และเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างอย่างจริงจังด้วย
และแม้กระทั่งเด็กวัยกระเตาะชั้นอนุบาล ก็สามารถช่วยพ่อแม่และคุณครูคัดแยกขยะเบื้องต้นได้ถ้ามีการกระตุ้น พูดซ้ำ และทำย้ำบ่อยๆ เด็กน้อยก็จะจำขึ้นใจจนติดเป็นนิสัยที่ดีต่อไปในอนาคต
ครูจุฬารัตน์ คำเสมอ รักษาการหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดเขาสำเภาทอง คือคุณครูผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ ThinkCycle Bank ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ ที่ปัจจุบันดำเนินการจัดการขยะอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จนได้รับรางวัลระดับดีเด่นจากมหาวิทยาลัยมหิล
แม้ที่นี่จะมีนักเรียนแค่สามระดับชั้น คืออนุบาล 1-3 แต่ทุกฝ่ายก็ร่วมมือร่วมแรงกันแยกขยะรีไซเคิลอย่างแข็งขัน ทั้งตัวนักเรียน คุณครู และผู้ปกครอง
ครูจุฬารัตน์เกริ่นให้ฟังว่าโครงการบริหารจัดการขยะที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเป็นนโยบายที่เทศบาลสนับสนุนให้โรงเรียนทำอยู่แล้ว โดยเริ่มรณรงค์ให้นำขยะจำพวกถุงพลาสติกในครัวเรือนมารวบรวมเพื่อส่งรีไซเคิล เมื่อ GC นำโครงการ ThinkCycle Bank เข้ามาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สิ่งที่เพิ่มเติมจากนโยบายของเทศบาลคือ  GC ได้เข้ามาให้ความรู้และจัดกิจกรรมอบรมเรื่องการคัดแยกขยะแก่คุณครูและนักเรียน รวมทั้งมีการจัดหาคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ช่วยคำนวณปริมาณขยะและจำนวนเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการ ทำให้โรงเรียนมีฐานข้อมูลขยะทั้งหมดที่นักเรียนนำมาฝากตั้งแต่ต้นเทอมจนจบปีการศึกษา โครงการ ThinkCycle Bank จึงเข้ามาเชื่อมเสริมนโยบายที่มีอยู่แล้วของเทศบาล ให้การคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลในศูนย์เด็กเล็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“สำหรับโครงการ ThinkCycle Bank ที่ศูนย์เด็กเล็กวัดเขาสำเภาทอง จะเริ่มจากการประชุมผู้ปกครองให้เข้าใจตรงกันถึงจุดประสงค์ของโครงการนี้ ที่ต้องการสนับสนุนให้เด็กๆ ช่วยกันลดขยะ โดยการคัดแยกขยะรีไซเคิลมาขายเพื่อเป็นเงินออมในบัญชีธนาคารขยะ ที่สำคัญที่สุดคือโรงเรียนต้องชักชวนให้ผู้ปกครองเข้าใจและอยากเข้าร่วมก่อน จากนั้นจึงชี้แจงกับผู้ปกครองว่าเงินทั้งหมดจากขยะที่นักเรียนนำมาฝาก จะเป็นของเด็กทั้งหมด โดยที่โรงเรียนไม่หักค่าดำเนินการใดๆ” ครูจุฬารัตน์เล่าให้ฟังถึงบันไดขั้นแรกของโครงการ
ศูนย์เด็กเล็กที่นี่จะรับซื้อขยะจากนักเรียนสัปดาห์ละครั้ง ภาพนักเรียนอนุบาลเดินหิ้วขยะถุงแล้วถุงเล่ามาโรงเรียนไม่ขาดสายจึงเป็นภาพที่น่าชื่นใจสำหรับคนเป็นครูผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ
โดยทุกวันศุกร์คุณครูจะนำขยะของเด็กๆ มาชั่งเพื่อรายงานผลกับเทศบาล และจะรวมน้ำหนักขยะกับจำนวนเงินออมของแต่ละคน ลงในระบบจัดการขยะเดือนละครั้ง เมื่อจบปีการศึกษา ผู้ปกครองสามารถขอดูสมุดคู่ฝากที่บันทึกขยะที่เก็บได้ พร้อมกับสามารถถอนเงินออมในบัญชีออกไปเพื่อเป็นค่าขนมแก่ลูกๆ ได้
ถัดจากการประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ปกครองแล้ว ขั้นต่อมาคือการสื่อสารกับเด็กๆ ให้เข้าใจว่าการแยกขยะคืออะไร ทำไมถึงสำคัญ และต้องสาธิตการแยกขยะแต่ละประเภทให้นักเรียนดูและทำตามพร้อมๆ กันไป เช่น ถ้าเก็บขวดน้ำพลาสติกได้ขวดหนึ่ง ก่อนอื่นเด็กๆ จะต้องเทน้ำออกให้หมด เหยียบให้แบนเพื่อประหยัดเนื้อที่ในการจัดเก็บ แล้วแยกฝาขวด กับฉลากรอบขวดไว้คนละถุง เพราะต้องอธิบายให้เด็กๆ เข้าใจว่าขยะพลาสติกแต่ละชนิดดราคาไม่เท่ากัน และมีกระบวนการรีไซเคิลที่แตกต่างกัน จึงต้องแยกประเภทก่อนนำมาฝาก ถ้านักเรียนคนไหนยังแยกขยะไม่เป็น คุณครูก็จะให้นำขยะที่เก็บได้มาช่วยกันฝึกแยกที่โรงเรียน
“เดี๋ยวนี้เวลาเด็กเดินไปไหนก็จะเก็บขยะติดไม้ติดมือมาให้ตลอด เพราะเขารู้ว่าขยะมีค่าและจะกลายมาเป็นเงินออมในบัญชีได้ ส่วนผู้ปกครองก็ให้ความร่วมมือดีมาก ตั้งแต่ช่วยแยกขยะในบ้านให้ลูกหลานเอามาฝากที่โรงเรียน ตอนนี้ปริมาณขยะที่เด็กๆ เอามาฝากจึงมีน้อยลงกว่าแต่ก่อน ซึ่งหมายความว่าเราคัดแยกขยะก่อนทิ้งกันมากขึ้น จนมีขยะในชุมชนรอบๆ โรงเรียนน้อยลง” ครูจุฬารัตน์เล่าพร้อมเผยอยิ้มด้วยความภูมิใจ
นอกเหนือจาก ThinkCycle Bank ที่ศูนย์เด็กเล็กร่วมมือกับ GC ผลักดันเรื่องการคัดแยกขยะอย่างเข้มแข็งในโรงเรียนแล้ว ที่นี่ยังมีโครงการที่ทำร่วมกับเทศบาลในพื้นที่ด้วย เช่น ขยะเปียกจากเศษอาหารกลางวันของนักเรียนที่แต่ก่อนต้องเททิ้งจนส่งกลิ่นเหม็น ตอนนี้ถูกนำไปหมักทำปุ๋ยชีวภาพเพื่อรดต้นไม้บริเวณโรงเรียนให้งอกงาม ส่วนเปลือกไข่ที่แม่ครัวเตรียมทิ้งหลังจากทำอาหารให้เด็กนักเรียน ก็ได้นำไปตากแห้งและบดทำปุ๋ยใส่ต้นไม้เพื่อเพิ่มแร่ธาตุ
ส่วนถุงนมและกล่องนมโรงเรียนซึ่งเป็นขยะจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นทุกวัน คุณครูก็จะให้นักเรียนช่วยกันตัดถุุง ตัดกล่องแล้วล้างก่อนจะนำไปขาย ส่วนน้ำล้างที่เปื้อนนมก็ไม่เททิ้งเปล่าๆ แต่จะให้นักเรียนตักไปรดต้นไม้จำพวกพืชสมุนไพรและผักสวนครัวบริเวณโรงเรียนต่ออีกทอดหนึ่ง
ครูจุฬารัตน์ขมวดให้ฟังว่าคณะครูอยากทำโครงการ  ThinkCycle Bank ต่อไปเรื่อยๆ เพราะนี่ถือเป็นก้าวแรกที่ทำให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้เรื่องการแยกขยะตั้งแต่เริ่มต้น ครูจุฬารัตน์ยังเห็นว่านอกจากเงินออมที่เด็กนักเรียนจะได้รับจากการนำขยะมาฝากแล้ว โครงการนี้ยังช่วยดึงให้ผู้ใหญ่ช่วยกันใส่ใจปลูกฝังเด็กๆ เรื่องการแยกขยะรีไซเคิล ซึ่งจะทำให้เด็กซึมซับและติดเป็นนิสัยที่ดีไปจนเด็กเติบโต

จากขยะสู่การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่ทำให้เด็กๆ ฉุกคิดก่อนทิ้ง
มาที่โรงเรียนอนุบาลอีกแห่งหนึ่งในเมืองระยองที่ได้รับรางวัลโรงเรียนการจัดการขยะดีเด่นจากมหาวิทยาลัยมหิดล คือโรงเรียนเทศบาลบ้านเพ 1 ซึ่งที่นี่โดดเด่นในด้านการนำขยะประเภทถุงนมมาทำเพิ่มมูลค่าเป็นสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์หลากหลายชนิด รวมถึงมีการดำเนินงาน ThinkCycle Bank ร่วมกับ GC อย่างเข้มแข็ง
ครูจิตรอารีย์ ประเสริฐศรี คุณครูที่ปรึกษาโครงการ ThinkCycle Bank โรงเรียนเทศบาลบ้านเพ 1 เล่าย้อนกลับไปเมื่อคราวริเริ่มโครงการนี้เมื่อสองปีก่อนว่า
“ก่อนที่โรงเรียนเทศบาลบ้านเพ 1 จะเข้าร่วมโครงการ ThinkCycle Bank โรงเรียนเรามีการคัดแยกขยะอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีระบบระเบียบเท่าที่ควร พอ GC เข้ามาทำโครงการนี้ ทำให้โรงเรียนได้โปรแกรมที่ช่วยให้การจัดการข้อมูลขยะเป็นระบบยิ่งขึ้น การทำงานของครูก็สะดวกขึ้น สามารถบันทึกข้อมูลขยะของนักเรียนได้แบบครบถ้วน ไม่มีขาดตกบกพร่อง”
ครูจิตรอารีย์ขยายให้ฟังถึงขั้นตอนดำเนินโครงการ ThinkCycle Bank ภายในโรงเรียนว่า “เราเริ่มจากการประชุมครูเพื่อวางแผนดำเนินงานก่อน ว่าจะให้นักเรียนมีส่วนร่วมยังไง และจะให้ชุมชนมีส่วนร่วมทางไหนได้บ้าง เราเลยเริ่มโครงการนี้โดยประกาศให้นักเรียนชั้นอนุบาล 1-3 รวบรวมขยะจากที่บ้านมาขายให้คุณครูทุกวันศุกร์ ซึ่งทุกวันศุกร์ก็จะได้เห็นภาพเด็กๆ ต่อแถวเอาขยะมาชั่งกิโลขาย เสร็จแล้วครูก็จะบันทึกข้อมูลลงในระบบเดือนละ 1 ครั้ง และเปิดบัญชีธนาคารให้เป็นรายบุคคล เพื่อให้เด็กๆ เห็นว่าขยะของเขาถูกเปลี่ยนเป็นเงินจริง ให้เขามีกำลังใจที่จะเอาขยะมาฝาก”
ครูจิตรอารีย์เล่าว่าขยะยอดฮิตที่เด็กๆ มักจะหอบหิ้วมาขายที่โรงเรียน ส่วนมากจะเป็นขยะในครัวเรือน เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว ลังกระดาษ กระดาษเอสี่ใช้แล้ว กระป๋องเครื่องดื่ม ขวดน้ำมันพืช ฯลฯ โดยเด็กๆ จะคัดแยกจากที่บ้านมาเรียบร้อยแล้วก่อนนำมาชั่งขาย เพราะทางโรงเรียนได้ให้ความรู้ในชั้นเรียน และประชาสัมพันธ์แก่ผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง
นอกจากขยะในครัวเรือนที่นักเรียนรวบรวมมาขายที่โรงเรียนแล้ว ขยะจำพวกถุงนมที่นักเรียนต้องดื่มและทิ้งทุกวัน คุณครูก็ได้นำมาพลิกแพลงดัดแปลงเป็นข้าวของตกแต่งที่ดูน่าใช้ไม่ใช่เล่น
ครูจิตรอารีย์เล่าว่าเบื้องต้นจะมีการคัดแยกหลอดและถุงนมหลังดื่มเสร็จ เพื่อนำหลอดไปทำสิ่งประดิษฐ์ ส่วนขยะถุงนมจะให้นักเรียนช่วยกันตัด ล้างทำความสะอาด และตากแดดให้แห้ง เพื่อนำไปทำเป็นสิ่งประดิษฐ์ เช่น ช่อดอกไม้ เข็มกลัด พวงมาลัยรีไซเคิล หมวกถัก รวมถึงเสื้อกันเปื้อน
ครูจิตรอารีย์แอบกระซิบให้ฟังว่างานประดิษฐ์จากขยะถุงนมเหล่านี้ ทำให้เด็กๆ รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยคุณครูล้างและตัดเป็นชิ้นๆ เพื่อนำไปแปลงร่างเป็นสิ่งประดิษฐ์สวยๆ เก็บไว้ใช้ร่วมกันในชั้นเรียน
“การทำซ้ำ ย้ำบ่อย ให้เห็นภาพจริง” เป็นหัวใจที่ครูจิตอารีย์บอกว่านี่คือกุญแจที่จะไขไปสู่ความสำเร็จในการปลูกฝังเรื่องการคัดแยกขยะให้เด็กวัยอนุบาล เพราะเด็กน้อยวัยนี้ต้องทำตัวอย่างให้ดูบ่อยๆ และต้องฝึกให้ทำเป็นกิจวัตรจึงจะช่วยให้เด็กจำ
ถ้ามองในระยะยาว นี่คือโครงการที่ช่วยบ่มเพาะมนุษย์ให้มีคุณภาพตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต เพื่อต่อไปในวันที่เยาวชนเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เขาจะได้เป็นข้อต่อหนึ่งในสังคมที่ช่วยรัดร้อยความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้อยู่คู่สังคมไปตราบนานเท่านาน



จากธนาคารขยะสู่วิสาหกิจชุมชนที่ทุกคนมีส่วนร่วม
มาถึงโรงเรียนที่สามที่ได้รับรางวัลดีเด่นด้านการจัดการขยะ คือโรงเรียนวัดมาบชลูด ที่นี่เป็นโรงเรียนประถมศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-6 ที่ GC นำโครงการ ThinkCycle Bank เข้ามามาต่อยอดโครงการธนาคารขยะวิถีพอเพียงที่เคยนำร่องมาก่อน
 ครูไพโรจน์ ดอนทรัพย์ คุณครูที่ปรึกษาโครงการ ThinkCycle Bank โรงเรียนวัดมาบชลูด เล่าว่าเริ่มแรกโรงเรียนได้ไปศึกษาดูงานในโรงเรียนต้นแบบจัดการขยะในจังหวัดนครปฐมเพื่อศึกษากระบวนการทำงาน เรียนรู้ปัญหาที่โรงเรียนอื่นเจอ และเข้าอบรมการใช้โปรแกรมจัดการขยะของมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะเริ่มเข้าสู่การดำเนินการจริงในโครงการ ThinkCycle Bank
“บริเวณรอบๆ โรงเรียนเรามีทั้งชุมชนและโรงงาน ละแวกนี้จึงเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่ผู้คนกระจุกตัวหนาแน่น พอคนเยอะ ปัญหาขยะก็เยอะตามมาด้วย พอมีโครงการ ThinkCycle Bank เข้ามาก็เป็นผลดีกับโรงเรียน เพราะจะได้เป็นการปลูกฝังให้นักเรียน คุณครู และผู้ปกครองในชุมชน รู้เรื่องการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อจะช่วยให้การจัดการขยะภายในโรงเรียนและรอบๆ โรงเรียนมีประสิทธิภาพ” ครูไพโรจน์เอ่ยถึงข้อดีของโครงการก่อนจะเล่าขั้นตอนการดำเนินงานต่อๆ ไป
เนื่องจากโรงเรียนวัดมาบชลูดเป็นโรงเรียนประถมศึกษา จึงมีเด็กนักเรียนที่โตพอรู้เรื่องการคัดแยกขยะและมีจิตอาสาช่วยคุณครูในการเป็นทีมงานช่วยชั่งขยะที่เพื่อนๆ นำมาขายด้วย
ครูไพโรจน์เริ่มเดินหัวรถจักรโครงการนี้โดยการแจ้งให้เด็กนักเรียนทุกชั้นทราบก่อนว่ามีการนัดหมายให้นำขยะมาขายในวันใดบ้าง เมื่อถึงวันที่ทำการรับฝาก ทีมนักเรียนจิตอาสาก็จะช่วยมาเป็นทีมงานชั่งขยะของเพื่อนๆ ก่อนจะส่งต่อให้ผู้รับซื้อซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
“ปริมาณขยะที่นักเรียนเรานำมาฝากมีมากขึ้นทุกปี เนื่องจากบริเวณรอบๆ ชุมชนเป็นเขตที่พักอาศัย เมื่อคนมาอยู่เยอะขึ้น ขยะก็เยอะขึ้นด้วย โดยเฉพาะช่วงที่มีงานเทศกาลอย่างลอยกระทง เด็กๆ จะเก็บขยะมาขายได้เยอะกว่าวันปกติ ส่วนเด็กๆ ที่มีบ้านใกล้โรงงานก็จะเก็บขยะได้เยอะและมีขยะหลากหลายประเภท พ่อแม่ก็จะช่วยบรรทุกมาเป็นคันรถเพื่อมาขายทีเดียว คือส่วนมากเด็กก็จะไปบอกต่อพ่อแม่และคนในชุมชนให้ช่วยกันคัดแยกขยะ เพราะขยะมีค่า และสามารถเอามาขายเพื่อสะสมเป็นเงินได้”
ส่วนขยะรีไซเคิลทั้งหลายที่นักเรียนรวบรวมมาฝากกับโรงเรียน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจะเป็นผู้เข้าไปรับซื้อทุกสัปดาห์ตามที่มีการนัดหมายกัน ซึ่งวิสาหกิจชุมชนถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในระบบจัดการขยะ เพราะถือเป็นตัวแทนชุมชนมาบชลูดในการรวบรวมขยะ เพื่อขายต่อให้โรงงานรีไซเคิลนำกลับไปแปรรูปใหม่ส่วนบทบาทของโรงเรียนคือเป็นจุดรับขยะแรกสุดจากนักเรียนและคนในชุมชน เพื่อส่งต่อไปสู่สายพานการรีไซเคิลขั้นต่อๆ ไป โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้รับไม้ต่อ ส่วนรายได้ที่กลุ่มวิสาหกิจได้รับจากการซื้อ-ขายขยะเป็นทอดๆ ก็จะหมุนเวียนอยู่ในชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ เลี้ยงดูตัวเองได้ และเป็นชุมชนที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ขยะที่เคยไร้ค่าก็เปลี่ยนมาเป็นค่าขนมและทุนการศึกษาของเด็กนักเรียนในชุมชนมาบชลูดเช่นกัน
ก้าวต่อไปของการจัดการขยะในโรงเรียน ครูไพโรจน์เล่าว่าโรงเรียนมีแผนจะทำปุ๋ยหมักจากใบไม้ที่ร่วงหล่นตามพื้นในโรงเรียน เพราะการสุมกองไฟเผานั้นสร้างมลพิษทั้งแก่นักเรียนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้ามีองค์ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักใบไม้ นักเรียนจะได้มีความรู้เรื่องนี้และสามารถนำไปบอกต่อพ่อแม่และคนในชุมชนให้ร่วมกันทำได้
ครูไพโรจน์เสริมว่า “ยิ่งในอนาคตจะมีการลดใช้สารเคมีในภาคเกษตร หากนักเรียนมีความรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักติดตัวก็จะสามารถเป็นอาชีพหล่อเลี้ยงชีวิตในอนาคตได้”
การให้ความรู้แบบองค์รวมเรื่องการจัดการขยะจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากความรู้จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้ชุมชนมองเห็นความสำคัญและความจำเป็นในการแยกขยะ เพราะนอกจากชุมชนจะสะอาดสะอ้าน ปราศจากโรคจากการหมักหมมขยะแล้ว ของไร้ค่าที่หล่นตามพื้นนั้นสามารถเปลี่ยนเป็นเงินและนำมาหล่อเลี้ยงคนในชุมชนได้จริง
เมื่อทุกคนร่วมมือกันอย่างจริงจัง สักวันหนึ่งก็จะสามารถผลักดันชุมชนไปสู่ลูปของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ได้จริงโดยที่ไม่มีขยะเหลือทิ้ง เพราะคนในชุมชนช่วยกันคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลโดยมีโรงเรียนเป็นจุดแรกรับ และปูทางไปสู่การ Upcycling ให้ขยะกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่ม อย่างเช่นปุ๋ยชีวภาพจากใบไม้ที่โรงเรียนวัดมาบชลูดกำลังพยายามจะทำในอนาคตอันใกล้นี้

About แอดมิน

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.

ผู้สนับสนุน