“ถวายความรู้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าแด่พระสงฆ์”
วันที่ 29 มกราคม 2561 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)
เขต 6 ระยอง จัดประชุม “เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า
กลุ่มพระสงฆ์” ณ ศาลาการเปรียญวัดเนินพระ ถ.สุขุมวิท ต.เนินพระ อ.เมือง
จ.ระยอง ได้นิมนต์เจ้าอาวาสทุกวัด ทั้งวัดฝ่ายมหานิกายและธรรมยุต รวมจำนวน
90 วัด
ถวายความรู้เรื่องสิทธิประกันสุขภาพ
ถ้วนหน้า ข้อควรระวังด้านสุขภาพของพระสงฆ์
และการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ พ.ศ.2560
สู่การปฏิบัติ
ได้รับเกียรติจากนายวิศิษฎ์
ยี่สุ่นทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สปสช. กล่าวรายงาน ได้กล่าวว่า “การประชุมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า
กลุ่มพระสงฆ์ในจังหวัดระยอง” ในวันนี้ เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
“ทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย
ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่าง ถ้วนหน้า ด้วยความมั่นใจ”
และยุทธศาสตร์การการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔ ในการสร้างการมีส่วนร่วมความเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสอดรับกับธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ปี
๒๕๖๐ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ ขับเคลื่อน “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” และมติมหาเถรสมาคมที่ ๑๙๑/๒๕๖๐ วันที่ ๒๐
มีนาคม ๒๕๖๐ ขับเคลื่อน “ธรรมนำโลก” ตามปรัชญาและแนวคิดที่ให้
๑)พระสงฆ์กับการดูแลตนเองตามหลักพระธรรมวินัย
๒)ชุมชนสังคมกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย ๓)บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม การประชุมในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ
โดยความร่วมมือของพระสังฆาธิการเจ้าคณะจังหวัดระยองทั้งสองนิกาย สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดระยอง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)เขต ๖
ระยอง และหน่วยบริการคือโรงพยาบาลระยอง
ตามหลักการดังที่กล่าวมาข้างต้น
การประชุมในครั้งนี้ ได้นิมนต์เจ้าอาวาสวัดหรือผู้แทนในจังหวัดระยอง
ให้มีความรู้ความเข้าใจในสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการดูแลสุขภาพ ซึ่งสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิที่ได้รับตามกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการสงเคราะห์จากรัฐบาล
ผู้นำศาสนาในพระพุทธศาสนา รวมถึงผู้นำศาสนาอื่นๆ
ควรมีความรู้ ในสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสิทธิบัตรทอง ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕
และสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอนุมัติเพิ่มเติม
เมื่อมีการเจ็บป่วยสามารถใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว
ได้รับบริการตามสิทธิประโยชน์ การจัดประชุมในวันนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีที่พระสังฆาธิการ
เจ้าอาวาสวัดทุกวัดมีส่วนร่วมในการได้รับความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับหน้าที่และสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อถ่ายทอดความรู้แก่พระภิกษุ สามเณร
ชีในวัด
และรวมถึงฆราวาสทั่วไปได้อย่างถูกต้อง
เมื่อหากประสบกับความเจ็บป่วย
หรือเกิดอุบัติเหตุ
สามารถไปใช้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม การบริการที่ได้รับจะเกิดความรวดเร็ว
ไม่ติดขัด ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ไม่จำเป็นลง ไม่ว่า จะเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหาร
ค่ารักษาพยาบาล เป็นการป้องกันการล้มละลาย จากการเจ็บป่วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง
โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น และได้รับเกียรติจากพระเทพสิทธิเวที
เจ้าคณะจังหวัดระยองฝ่ายมหานิกายเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม ได้กล่าวว่า “การประชุมเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า
กลุ่มพระสงฆ์ในจังหวัดระยอง” ในวันนี้ นับเป็นเรื่อง ที่ดีที่หน่วยงานต่างๆให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติให้เป็นรูปธรรม สู่การปฏิบัติ ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ปี ๒๕๖๐ เกิดขึ้นตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่
๕ พ.ศ.๒๕๕๕ ขับเคลื่อน “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” และมติมหาเถรสมาคมที่ ๑๙๑/๒๕๖๐ วันที่ ๒๐
มีนาคม ๒๕๖๐ ขับเคลื่อน “ธรรมนำโลก” ดังคำกล่าวรายงานข้างต้น ที่ได้กล่าวแล้ว
“หน่วยงานต่างๆต่างปรารถนาดี
ที่ให้พระสงฆ์สามารถดูแลสุขภาพของตนเองไม่ให้เจ็บป่วย
หรือเมื่อเจ็บป่วยก็สามารถได้รับการรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว มีคุณภาพ มาตรฐาน ให้ชุมชน
สังคมรอบวัดดูแลสุขภาพพระสงฆ์ได้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย ไม่เป็นบาปโดยไม่รู้ตัว รวมถึงการได้รับความรู้ในสิทธิการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นสิทธิที่ได้รับตามกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการสงเคราะห์จากรัฐบาล เจ้าอาวาสทุกรูปควรมีความรู้เพื่อถ่ายทอดไปยังพระลูกวัดและญาติโยมต่างๆได้ถูกต้อง และเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
สามารถใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว
หวังว่าในวันนี้
ทุกๆท่านจะได้รับความรู้จากโยมวิทยากรในวันนี้ และขอบใจโยมทุกๆหน่วยงาน
ทุกๆคนที่ช่วยขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติ มุ่ง หวังให้พระสงฆ์ได้รับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง
เหมาะสม เกิด ความรวดเร็ว
ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ไม่จำเป็นลง
รวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง
โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง” พระเทพสิทธิเวที เจ้าคณะจังหวัดระยอง กล่าวในท้ายสุด
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 6 ระยอง
ดำเนินการสนับสนุนต่อการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 สู่การปฏิบัติ
ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ร่วมลงนามในเจตนารมณ์ร่วมธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ
พ.ศ.2560 มีบทบาทที่เกี่ยวข้องใน 11)วัดพึงส่งเสริมให้พระสงฆ์มีความรู้ ความเข้าใจในระบบบริการสาธารณสุข และชุดสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานในระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพตนเอง อุปัชฌาย์
อาจารย์และสหธรรมิก ข้อ 18)รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พึงจัดชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานในระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ครอบคลุมการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค
การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่พระสงฆ์อย่างเป็นธรรมและเหมาะสม ข้อ 19)องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน พึงสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพ
การป้องกันโรค การควบคุมโรคและการจัดการปัจจัยที่คุกคามสุขภาพของพระสงฆ์
โดยใช้งบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่และแหล่งงบประมาณอื่นๆ และข้อ 30)คณะสงฆ์พึงจัดให้มีกลไกระดับชาติ ที่มีผู้แทนจากองค์กรคณะสงฆ์ ภาครัฐ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาทุกระดับ
โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่กำหนดทิศทาง บูรณาการ
สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อน ติดตาม ประเมินผลธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 รวมทั้งส่งเสริม
สนับสนุนกลไกระดับพื้นที่
ให้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2560 สู่การปฏิบัติด้วย
ซึ่งมีแผนการขับเคลื่อนดังนี้ 1)จัดทำทะเบียนพระสงฆ์ให้เรียบร้อย
ร่วมมือ พศ., สนบท., มหาเถรสมาคม และเชื่อมกับบัตรสมาร์ทการ์ดพระสงฆ์ โดยคาดว่าจะมีรูปธรรมในเดือนเมษายน 2561 2)สนับสนุนงบ
PPA
เพื่อการดูแลสุขภาพทั่วไป(ตรวจคัดกรองความเสี่ยงพระสงฆ์ การมีโครงการร่วมกับกรมอนามัย
ต่อเนื่องต่อยอดโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพ)
และจะดำเนินการให้เดินหน้าเป็นรูปธรรม วัดผลลัพธ์
ในเขตที่สมัครในนำร่องเบื้องต้น 3)จัดทำเมนูกิจกรรมในกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
เพื่อเสริมให้เป็นการชี้นำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายพระสงฆ์ หน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ทำเป็นโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ดำเนินการในวัดเป้าหมาย หรือสถานศึกษาของสงฆ์ในเขตทุกเขต 4)สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมจัดทำโครงการกับเครือข่ายพระสงฆ์เพื่อสุขภาวะ โดยดำเนินการเพื่อให้เกิด Health
literacyในพระสงฆ์
และพระสงฆ์กับการเป็นผู้นำสุขภาวะในชุมชน
นอกจากนี้ การประชุมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก น.ส.สิริกร เค้าภูไทย
ผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม
ภาคกลาง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.), ว่าที่ร้อยตรีจุลสัน ทันอินทร์อาจ
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา จังหวัดระยอง,
ผู้แทนจากโรงพยาบาลระยอง ที่ให้เกียรติมาร่วมงานและเป็นวิทยากรจัดประชุม ในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการสร้างความเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพ
และขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่การปฏิบัติร่วมกันจากทุกภาคส่วน
0 Comments:
แสดงความคิดเห็น